พระลือหน้ามงคล มีคำกล่าวเล่าขานของผู้เฒ่า ผู้แก่ของเมืองลำพูนว่า “ถ้าหากไม่มีพระรอดของวัดมหาวันให้ใช้พระลือหน้ามงคลแทน” คำกล่าวที่ว่านี้ถูกต้องอย่างไม่ผิดเลย เพราะเท่าที่ได้คุยกับผู้ที่มีพระลือหน้ามงคลไว้ในความครอบครอง ทุกคนต่างยืนยันและประจักษ์ถึงพุทธคุณทางแคล้วคลาด อยู่รอดปลอดภัย และเมตตามหานิยมสูงเด่นเช่นพระรอดของวัดมหาวัน พระลือหน้ามงคลขุดพบมากที่วัดประตูลี้และวัดกู่เหล็กบริเวณทุ่งกู่ล้านอำเภอ เมือง ปัจจุบันพื้นที่โดยรอบที่เคยเป็นเนื้อที่ของวัดโบราณ ได้กลายเป็นหมุ่บ้านจัดสรรไปแล้ว ต่อๆไปจะพบหาพระลือหน้ามงคลหรือพระลือโขง จากกรุนี้จะเป็นสิ่งที่ยากยิ่ง
พระลือหน้ามงคลได้รับความนิยมสูงสุดรองจากพระรอด พุทธคุณของพระลือเป็นที่ยอมรับกันโดยแท้ โดยเฉพาะบรรดาพ่อค้าวานิช ข้าราชการ ครูบาอาจารย์ ทหาร ตำรวจ พระลือหน้ามงคลมีอยู่หลายพิมพ์มีความแตกต่างของรายละเอียดอยู่บ้างต้องสังเกตุ ความแตกต่างนั้นคือ รายละเอียดของลวดลายของดอกบัวรอบๆองค์พระ สังเกตุให้ดีลวดลายประดับเป็นดอกบัวที่ประกอบไปด้วย ก้านบัว ใบบัวไม่ใช่เป็นใบโพธิ์หรือก้านโพธิ์เหมือนกับของพระคง พระเปิมพระบาง ดูกันให้ดีและละเอียดกันหน่อย ฐานที่ประทับ เป็นบัวคว่ำ บัวหงาย มองดูเผินๆเหมือนกับบัวเหลี่ยม
เรื่องของบัวประดับในองค์พระลือหน้ามงคลนี้ ได้รับอิทธิพลของศาสนาพุทธนิกายมหายานที่ได้เข้ามาแพร่หลายในช่วงเวลานั้น ศิลปะในองค์พระจะเป็นตัวบ่งบอกถึงพุทธคุณที่เต็มไปด้วยความเมตตาบารมีโดยแท้ พระลือมีลักษณะพิมพ์ทรงคล้ายปลายนิ้วมือ ที่มีส่วนปลายมน มีขนาดใหญ่กว่าพระคง พระบางเล็กน้อย แต่มีขนาดย่อมกว่าพระเปิม องค์พระประทับนั่งบนฐานที่มีผ้าปูเป็นรูปครึ่งวงกลม องค์ที่ติดพิมพ์จะเห็นหน้าตาหูปากจมูกติดพิมพ์อย่างชัดเจน องค์พระห่มจีวรในลักษณะห่มดอง มีสังฆาฏิเล็กๆพาดลงมาจากไหล่ ลงมาเกือบจะถึงเอว เศียรพระจะมองดูโล้นไม่มีเม็ดพระศก มีกระจังหน้าดูท่าทางขึงขังและจริงจัง
พระลือ มีการขุดค้นพบครั้งใหญ่ที่กรุวัดประตูลี้และกรุวัดกู่เหล็ก ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน นอกจากนี้ ยังมีการขุดค้นพบที่กรุวัดมหาวันที่เดียวกับที่พบพระรอด แต่มีจำนวนน้อยมาก สันนิษฐานว่าน่าจะมีการนำมาบรรจุไว้ในภายหลัง
“พระลือ” เป็นพระเนื้อดินที่มีส่วนผสมของกรวดและว่าน เนื้อขององค์พระจึงดูแตกต่างกัน บางองค์ก็มีกรวดติดน้อยมาก บางองค์ก็มีกรวดพราวไปทั้งองค์พระ และเมื่อมาผ่านกรรมวิธีการเผาซึ่งได้รับความร้อนแตกต่างกัน จึงทำให้สีและความแกร่งต่างกันไปด้วย โดยแบ่งออกได้เป็น 3 สี คือ พระลือเนื้อสีนวลหรือสีแดงชมพู เป็นพระที่ได้รับความร้อนพอควร ก้อนกรวดยังไม่ขยายตัวแรงยึดเหนี่ยวจึงมีน้อยมาก เมื่อผ่านกาลเวลากว่าพันปีจึงเกิดการเปื่อยยุ่ยและหลุดติดดินขี้กรุไป เห็นเพียงองค์พระรางๆ หาความงามไม่ได้ พระลือเนื้อก้ามปูเผาหรือสีเหลืองปนเขียว ได้รับความร้อนมากขึ้น เนื้อดินละลายมากขึ้นและกรวดขยายตัวมากขึ้น เนื้อเริ่มมีความแกร่ง แต่ผิวพระจะถูกกรวดดันจนทำให้ผิวขรุขระขาดสภาพที่แท้จริงไป และพระลือเนื้อสีเขียว เป็นพระที่มีเนื้อปนกรวดค่อนข้างใหญ่ เมื่อได้รับความร้อนจากการเผาก้อนกรวดจึงยังคงตัวอยู่ได้ แต่เมื่อฝังดินอยู่เป็นพันปี เนื้อดินมักหลุดหายไปโดยเฉพาะที่พบบ่อยๆ คือปลายด้านบน
มีคำกล่าวเปรียบเปรยของชาวเหนือว่า “พระคงเป็นพงศาวดารของทหาร ส่วนพระลือเป็นพงศาวดารของยอดขุนพล” ฟังดูแล้วจินตนาการไปว่า “พระลือ” น่าจะเป็นพระพิมพ์ที่มีลักษณะงามสง่าไปในทางดุดันน่าเกรงขาม แต่ลักษณะองค์จริงๆ แล้วมีพุทธลักษณะที่สง่างาม เข้มแข็งในที พุทธลักษณะองค์พระประทับนั่งขัดสมาธิเพชร แสดงปางมารวิชัย เหนืออาสนะฐาน 3 ชั้น ฐานชั้นบนเป็นบัวเหลี่ยม ชั้นที่ 2 เป็นเส้นนูนเล็กๆ ติดกับบัวเหลี่ยม ส่วนชั้นสุดท้ายเป็นเส้นหนาแสดงให้เห็นถึงความมั่นคง ด้านหลังเป็นผนังโพธิ์ การจัดวางไม่เป็นระเบียบ ใบโพธิ์มีลักษณะเหมือนหนอนด้วง ยาวบ้าง กลมบ้าง กิ่งโพธิ์ทุกกิ่งจะมีใบโพธิ์ติดอยู่ปลาย คล้ายดอกบัวตูมมีก้าน โดยวางสลับกันระหว่างใบโพธิ์และกิ่งโพธิ์มีใบแบบ 2 ต่อ 1 ใบโพธิ์มี 24 ใบ กิ่งโพธิ์มีใบมี 11 กิ่ง
พระพักตร์ลักษณะเกือบกลม คล้ายลูกแตงโม พระปรางอิ่ม พระเศียรเป็นแบบ “เศียรโล้น” ปรากฏไรพระศกชัดเจน พระขนง เห็นเป็นเส้นคล้ายคิ้วจริง พระเนตรนูนยาวรี แลดูใจดี พระนาสิกโด่งพองาม พระโอษฐ์เป็นร่องชัดเจนรับกับพระพักตร์ แต่ด้วยเนื้อขององค์พระและอายุการสร้าง ทำให้พระที่พบจะไม่ค่อยมองเห็นได้ชัดเจน พระกรรณทำแบบหูมนุษย์ พระศออูมและยาว พระอุระแฟบ พระนาภีเรียบ พระอังสะไม่กว้าง พระกรซ้ายวางแบบ “อ่อนข้อ” พระหัตถ์ขวาปรากฏนิ้วพระหัตถ์ทั้ง 5 นิ้ว
จากพุทธลักษณะองค์พระฉายา “พงศาวดารของยอดขุนพล” หรือ “ยอดขุนพลแห่งลำพูน” ของ “พระลือ” น่าจะไม่ใช่ขุนพลทางด้านสู้รบใช้พละกำลัง แต่จะเป็นลักษณะของยอดขุนพลทางด้านปัญญาเป็นเลิศอันเป็นพุทธคุณที่ปรากฏอย่างเด่นชัดและเป็นที่นิยมสะสมอย่างสูงมาจนถึงปัจจุบัน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น